วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

คลีโอพัตรา ที่ 7 ฟิโลปาตอร์


คลีโอพัตรา ที่ 7 ฟิโลปาตอร์ (Κλεοπάτρα θεά φιλοπάτωρ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ คลีโอพัตรา เกิดในเดือนมกราคม 69 ปีก่อนคริสตกาล - เสียชีวิตในวันที่ 30 พฤศจิกายน 30 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นราชินีแห่งอียิปต์โบราณ และเป็นสมาชิกคนสุดท้ายของราชวงศ์ปโตเลมีแห่งมาเซโดเนีย ดังนั้น จึงเป็นผู้ปกครองอียิปต์ที่มีเชื้อสายกรีกคนสุดท้าย บิดาของพระนางคือปโตเลมีที่ 12 โอเลเตส และคาดว่าพระมารดาเป็นเชษฐภคินีของโอเลเตส ทรงพระนามว่า คลีโอพัตราที่ 5 ทรีฟาเอนา ชื่อ"คลีโอพัตรา" เป็นภาษากรีก แปลว่า "ความเจริญรุ่งเรืองของบิดา" พระนามเต็มของพระนางคือ "คลีโอพัตรา เธอา ฟิโลปาตอร์" ซึ่งหมายถึง "เทพีคลีโอพัตรา ผู้เป็นที่รักของบิดา" พระนางทรงมีความเฉลียวฉลาดมาก ทรงแตกฉานถึง 14 ภาษา เช่น ภาษาฮิบรู ภาษาละติน ภาษามาซิโดเนีย ภาษาเอธิโอเปียน ภาษาซีเรีย ภาษาเปอร์เซีย ภาษาอียิปต์ ซึ่งแม้แต่ในราชวงศ์ก็น้อยคนนักที่จะแตกฉานในภาษานี้
ในปัจจุบัน คลีโอพัตรา ที่ 7 ฟิโลปาตอร์ นับได้ว่าเป็นผู้ปกครองอียิปต์โบราณที่มีชื่อเสียงมากที่สุด นิยมเรียกพระนามสั้นๆ ว่า คลีโอพัตรา ซึ่งทำให้ราชินีองค์ก่อนๆ ที่ทรงพระนามคล้ายคลึงกับพระนางถูกลืมไปสิ้น จริงๆ แล้วพระนางไม่เคยปกครองอียิปต์ตามลำพัง แต่ครองราชย์ร่วมกับพระบิดา พระอนุชา พระอนุชา - สวามี หรือไม่ก็พระโอรส แต่อย่างไรก็ดี การครองราชย์ร่วมกันดังกล่าวมีผู้ร่วมบัลลังก์เป็นเพียงกษัตริย์ตามพระยศเท่านั้น อำนาจแท้จริงอยู่ในมือของคลีโอพัตราเองทั้งสิ้น
ประวัติ
คลีโอพัตราที่ 7 เป็นชาวกรีกที่กำเนิดในดินแดนอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ ได้ขึ้นครองราชย์หลังจากที่ ปโตเลมีที่ 12 แห่งอียิปต์ ขณะนั้นพระนางเบเนไซน์และแม่ทัพอาร์เชลล์ได้ร่วมกันก่อการกบฏขึ้น ทำให้ฟาโรห์ปโตเลมีที่ 12 ออเลติส ต้องไปขอกำลังเสริมจากสภาซีเนตแห่งกรุงโรม ออกัส กาบิเนียส จึงได้ให้องค์ฟาโรห์จ่ายเงินเป็นจำนวน 10,000 เทลแลนด์ แต่องค์ฟาโรห์มีเงินไม่พอ จึงได้ไปขอยืมเงินจากคหบดีผู้ร่ำรวยนาม ราบีเรียส โพลตูมัส เมื่อได้กำลังเสริมแล้วก็กลับไปอียิปต์เพื่อจัดการกับผู้ก่อการกบฏ และได้สั่งประหารพระนางเบเนไซน์และแม่ทัพอาร์เชลล์ ทำให้ราบีเรียสได้เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพระคลังของอียิปต์
ราบีเรียสได้รีดไถชาวอียิปต์อย่างหนัก ทำให้ชาวอียิปต์ไม่พอใจลุกฮือกันต่อต้านราบีเรียส ทำให้ราบีเรียสต้องรีบหนีกลับไปยังกรุงโรม เมื่อพระบิดาของพระนางสวรรคตในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปีที่ 51 ก่อนคริสตกาล พระนางเป็นพระราชธิดาองค์โตของออเลติส เมื่อพระเชษฐภคินีอีกสองพระองค์สิ้นพระชนม์ลง พระนางยังมีพระขนิษฐาอีกองค์ที่มีชื่อว่าอาร์สิโนเอ ในช่วงแรกของการขึ้นครองราชย์ พระนางได้ครองราชย์ร่วมกับพระบิดาเป็นระยะเวลาสั้นๆ ต่อมาก็ได้ครองราชย์ร่วมกับพระอนุชาอีกสองพระองค์ ได้แก่ ปโตเลมีที่ 13 ผู้ซึ่งต่อต้านการปกครองของพวกโรมัน และปโตเลมีที่ 14 แต่เนื่องด้วยการสืบราชบัลลังก์ของราชวงศ์ปโตเลมีนั้นนิยมการสืบเชื้อสายทางมารดา พระอนุชาทั้งสองพระองค์จึงต้องเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับพระเชษฐภคินี คือคลีโอพัตรา เพื่อจะสามารถขึ้นครองราชย์ได้อย่างถูกต้องตามกฎมนเทียรบาล ภายหลังจากที่กษัตริย์ผู้เป็นพระอนุชา - สวามีของพระนางสวรรคตลงทั้งสองพระองค์ คลีโอพัตราได้แต่งตั้งให้โอรสของพระนางเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป มีพระนามว่าปโตเลมีที่ 15 ซีซาเรียน โดยการครองบัลลังก์ร่วมกัน ระหว่างปีที่ 44 - 30ก่อนคริสตกาล
ในปีที่48 ก่อนคริสตกาล คณะที่ปรึกษาของปโตเลมีที่ 13 นำโดยขันทีโปธินุส ได้ยึดอำนาจของคลีโอพัตราและบังคับให้พระนางหนีไปจากอียิปต์ โดยมีอาร์สิโนเอ พระขนิษฐาของพระนางติดตามไปด้วย ต่อมาในปีเดียวกันนี้ อำนาจของปโตเลมีที่ 13ได้ถูกริดรอนเมื่อนำตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโรม เมื่อนายพลปอมเปอุส มักนุส (ผู้ซึ่งแต่งงานกับลูกสาวของจูเลียส ซีซาร์ โดยที่นางได้เสียชีวิตขณะคลอดบุตรชาย) ที่กำลังหลบหนีจูเลียส ซีซาร์ ได้มาหาที่หลบซ่อนในเมืองอเล็กซานเดรีย ก็ถูกปโตเลมีที่ 13ปลิดชีพ เพื่อสร้างความดีความชอบแก่ตนให้ซีซาร์ได้เห็น จูเลียส ซีซาร์รู้สึกขยะแขยงกับแผนการอันโสมมดังกล่าว จึงได้ยกทัพบุกเข้ายึดเมืองหลวงของอียิปต์ และตั้งตนเป็นผู้ตัดสินคดีชิงบัลลังก์ระหว่างปโตเลมีที่ 13และคลีโอพัตรา หลังจากการสู้รบช่วงสั้นๆ ปโตเลมีที่ 13ก็ถูกสังหาร และ จูเลียส ซีซาร์ได้คืนบัลลังก์ให้แก่คลีโอพัตรา โดยมีปโตเลมีที่ 14เป็นผู้ครองบัลลังก์ร่วม
จูเลียส ซีซาร์ได้พำนักในอียิปต์ตลอดช่วงฤดูหนาว ระหว่างปีที่48 ก่อนคริสตกาล - 47 ก่อนคริสตกาล และคลีโอพัตราได้สร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้แก่ตนด้วยการเป็นคนรักของซีซาร์ ทำให้อียิปต์ยังคงเป็นความเป็นเอกราชไว้ได้ แต่ยังคงมีกองกำลังทหารโรมันสามกองประจำการอยู่ ความสัมพันธ์ระหว่างคลีโอพัตรากับซีซาร์ในช่วงฤดูหนาวได้ทำให้นางตั้งครรภ์และให้กำเนิดพระโอรสชื่อปโตเลมี ซีซาร์ (หรือมีชื่อเล่นว่าซีซาเรียน ซึ่งแปลว่าซีซาร์น้อย) อย่างไรก็ดี จูเลียส ซีซาร์ปฏิเสธการให้ซีซาเรียนเป็นผู้สืบทอดของตน และได้แต่งตั้งให้หลานชายชื่อ ออกุสตุส ซีซาร์ อ็อกตาเวียน เป็นผู้สืบทอดอำนาจแทน
คลีโอพัตรากับซีซาเรียนได้ไปเยือนกรุงโรมในระหว่างปีที่ 46 ก่อนคริสตกาล และ 44 ก่อนคริสตกาล และอยู่ในเหตุการณ์ขณะที่ซีซาร์ถูกลอบสังหาร ก่อนเดินทางกลับถึงอียิปต์เพียงเล็กน้อย ปโตเลมีที่ 14ก็สวรรคตอย่างลึกลับ คลีโอพัตราจึงได้แต่งตั้งให้ซีซาเรียนเป็นผู้ครองบัลลังก์ร่วมกับพระนาง มีการสันนิษฐานว่านางได้ลอบวางยาพิษปโตเลมีที่ 14 ผู้เป็นอนุชาของตนเอง
ในปีที่42 ก่อนคริสตกาล มาร์ค แอนโทนี หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการชุดที่สองของโรม ผู้ซึ่งปกครองกรุงโรมในช่วงที่เกิดสูญญากาศทางอำนาจ หลังการถึงแก่อสัญกรรมของซีซาร์ ได้ขอให้คลีโอพัตราเดินทางมาพบเขาที่เมืองทาร์ซุส ในแคว้นซิลิเซีย เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับความจงรักภักดีของพระนางต่ออาณาจักรโรมัน เมื่อคลีโอพัตราเดินทางมาถึง เสน่ห์ของพระนางทำให้มาร์ค แอนโทนีเลือกที่จะใช้เวลาช่วงฤดูหนาวระหว่างปีที่42 ก่อนคริสตกาล - ปีที่41 ก่อนคริสตกาล กับพระนางในอเล็กซานเดรีย ในช่วงฤดูหนาวนั้น พระนางได้ทรงพระครรภ์เป็นโอรส - ธิดาฝาแฝด ผู้มีพระนามว่าอเล็กซานเดอร์ เฮลิออส และ คลีโอพัตรา เซเลเน
สี่ปีต่อมา ในปีที่ 37 ก่อนคริสตกาล มาร์ค แอนโทนี ได้เดินทางเยือนอเล็กซานเดรียอีกครั้ง ระหว่างทางไปออกรบกับจักรวรรดิพาร์เธีย เขาได้สานสัมพันธ์กับคลีโอพัตรา และถือเอาอเล็กซานเดรียเป็นบ้านนับแต่นั้นเป็นต้นมา มาร์ค แอนโทนีอาจจะเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับคลีโอพัตราตามประเพณีอียิปต์ (ตามที่กล่าวไว้ในจดหมายของสุเอโตนิอุส) แต่อย่างไรก็ดี เขาได้แต่งงานแล้วกับอ็อกตาเวีย น้องสาวของเพื่อนชื่ออ็อกตาเวียน หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการชุดที่สองของโรม เขามีบุตรกับคลีโอพัตราอีกหนึ่งคน ชื่อว่าปโตเลมี ฟิลาเดลฟุส ในพิธีมอบดินแดนอเล็กซานเดรียเป็นของขวัญชิ้นใหญ่แก่คลีโอพัตราและโอรสธิดา ช่วงปลายปีที่ 34 ก่อนคริสตกาล หลังจากที่มาร์ค แอนโทนีได้มีชัยเหนืออาร์เมเนีย คลีโอพัตรากับซีซาเรียนได้ปกครองอียิปต์กับไซปรัสร่วมกัน อเล็กซานเดอร์ เฮลิออส ได้เป็นกษัตริย์ปกครองอาร์เมเนีย เมเดีย และ พาร์เธีย คลีโอพัตรา เซเรเน ได้เป็นราชินีปกครองซีเรไนกา และ ลิเบีย ส่วนปโตเลมี ฟิลาเดลฟุสได้เป็นกษัตริย์ปกครองโฟนิเซีย ซีเรีย และ ซิลิเซีย นอกจากนี้แล้วคลีโอพัตรายังดำรงตำแหน่งราชินีแห่งราชาทั้งปวงอีกด้วย
มีเหตุการณ์อันโด่งดังเกี่ยวกับคลีโอพัตราหลายเหตุการณ์ แต่เรื่องที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุดและไม่อาจตรวจสอบได้ว่าจริงหรือไม่ ได้แก่เหตุการณ์เกี่ยวกับพระกระยาหารค่ำของพระนางกับมาร์ค แอนโทนีมื้อหนึ่งที่มีราคาแพงลิบ พระนางได้หยอกเย้ากับมาร์ค แอนโทนีด้วยการพนันกันว่า เขาเชื่อหรือไม่ว่าพระนางจะสามารถใช้เงินสิบล้านเซสเตอร์ซีอุสกับพระกระยาหารมื้อเดียวได้ ซึ่งเขาก็รับพนัน ในคืนต่อมา พระนางได้เสิร์ฟพระกระยาหารค่ำธรรมดาไม่ได้หรูหราอะไร ทำให้พระนางถูกมาร์ค แอนโทนีล้อ แต่พระนางก็ได้รับสั่งให้เสิร์ฟพระกระยาหารสำรับต่อมา ซึ่งมีเพียงน้ำส้มสายชูอย่างแรงหนึ่งถ้วย จากนั้นพระนางก็ถอดต่างหูไข่มุกอันประมาณค่ามิได้ของพระนางออก หย่อนลงไปในน้ำส้มสายชู ปล่อยให้ไข่มุกละลาย แล้วดื่มส่วนผสมนั้น
พฤติกรรมของมาร์ค แอนโทนี นับว่ากระด้างกระเดื่องมากในสายตาของพวกโรมัน อ็อกตาเวียนจึงได้โน้มน้าวให้วุฒิสภาเปิดสงครามกับอียิปต์ ในปีที่ 31 ก่อนคริสตกาล กองกำลังของมาร์ค แอนโทนีได้เผชิญหน้ากับทหารโรมันด้วยทัพเรือนอกชายฝั่งแอคติอุม คลีโอพัตราได้ร่วมออกรบโดยมีทัพเรือของพระนางเอง แต่พระนางก็ได้เห็นกองเรือของมาร์ค แอนโทนี ที่มีเรือขนาดเล็กและขาดแคลนยุทโธปกรณ์ต้องพ่ายแพ้กับกองเรือโรมันที่มีเรือขนาดใหญ่กว่า พระนางต้องหลบหนีและมาร์ค แอนโทนีได้เลิกรบและหนีตามพระนางไป
หลังจากการรบที่อ่าวแอคติอุม อ็อกตาเวียนก็ได้ยกพลขึ้นบกบุกอียิปต์ ในขณะที่ทัพของอ็อกตาเวียนเกือบจะถึงอเล็กซานเดรีย กองกำลังทหารของมาร์ค แอนโทนีก็หนีทัพไปร่วมกับกองกำลังของอ็อกตาเวียน คลีโอพัตรากับมาร์ค แอนโทนีตัดสินใจปลิดชีพตนเองด้วยกันทั้งคู่ โดยที่คลีโอพัตราได้ใช้งูพิษปลิดชีพพระองค์เองเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ในปีที่ 30 ก่อนคริสตกาล ซีซาเรียน โอรสของพระนางที่เกิดกับจูเลียส ซีซาร์ก็ถูกอ็อกตาเวียนปลงพระชนม์ โอรสธิดาอีกสามพระองค์ที่เกิดกับมาร์ค แอนโทนีได้รับการไว้ชีวิตและนำกลับไปยังกรุงโรมโดยอ็อกตาเวีย อดีตภรรยาของมาร์ค แอนโทนี
มักกล่าวกันว่าคลีโอพัตราได้ใช้ แอสพฺ (งูพิษชนิดหนึ่ง) ปลิดชีพพระองค์เอง "asp" เป็นศัพท์เทคนิค หมายถึงงูพิษหลากหลายประเภทในอาฟริกาและยุโรป แต่ในที่นี้ หมายถึงงูเห่าอียิปต์ ซึ่งใช้ในการประหารนักโทษในบางครั้ง ยังมีเรื่องเล่าว่าคลีโอพัตราได้ทดสอบวิธีการฆ่าตัวตายต่างๆนานากับข้าราชบริพารหลายคน ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกวิธีการที่พระนางเห็นว่ามีประสิทธิภาพที่สุด
ด้วยที่เป็นชนเชื้อสายกรีก - มาเซโดเนีย ทั้งในด้านภาษาและวัฒนธรรม คลีโอพัตรามีชื่อเสียงในแง่ที่ว่า ตลอดระยะเวลากว่า 300 ปีที่ราชวงศ์ปโตเลมีปกครองอียิปต์นั้น พระนางเป็นสมาชิกคนแรกของปโตเลมีในที่เรียนรู้ภาษาอียิปต์ได้แตกฉาน และ ยังเรียนรู้ภาษาอื่นๆถึง 14 ภาษา ได้แตกฉาน

วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Mount Rushmore<หุบเขาแบล็คฮิลส์ >


เมาน์ท รัชมอร์ : Mount Rushmore <หุบเขาแบล็คฮิลส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา>
เมาน์ท รัชมอร์ (Mount Rushmore) คือภูเขาส่วนที่เป็นหน้าผาหินใช้เกาะสลักเป็นรูปใบหน้าขนาดใหญ่ของ อดีตประธานาธิบดี 4 คนของอเมริกา ผู้ริเริ่มความคิดที่จะสร้างอนุสาวรีย์ให้กับวีรบุรุษของคนอเมริกัน อีกทั้งยัง เป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาดูผู้นั้นคือ โดนส์ โรบินสัน (Doans Robinson)

โรบินสันได้เชิญปฏิมากรชื่อดังคือ จอห์น กัตซัน บอร์ลัม (John Gutzon Borglum)มาเป็นผู้ดำเนินการ และควบคุมการแกะสลัก งานเริ่มในปี ค.ศ.1924 และเสร็จในปี ค.ศ.1941

ใบหน้าที่แกะสลักไว้เป็นท่านแรกคือ จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกา ท่านนี้เกิดเมื่อปี ค.ศ.1732 ที่รัฐเวอร์จิเนีย และได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เมื่อปีค.ศ.1779

ท่านที่สองคือ โธมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีคนที่สาม เกิดเมื่อปีค.ศ.1743 เจฟเฟอร์สันได้รับเลือกเป็น ประธานาธิบดีถึง 2 สมัยติดกัน

ส่วนท่านที่สามคือ ธีโอดอร์ รูสเวลท์ ประธานาธิบดีคนที่ 26 ผู้ที่ทำให้โครงการขุดคลองปานามาสำเร็จลงได้ในปี ค.ศ.1903

และท่านสุดท้ายคือ อับราฮัม ลินคอล์น ท่านผู้นี้ได้รับเลือกให้เป็นประธานาบดีของอเมริกาเมื่อปีค.ศ.1860 และคนที่16ของประเทศ

งานแกะสลักใบหน้าทั้งสี่เสร็จสิ้นเรียงลำดับตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น คือ ปีค.ศ.1930-1936-1939 และ 1937 โดยโครงการนี้เสร็จ สิ้นจริงๆ ในปีค.ศ.1941 ซึ่งปัจจุบันเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการทำงานครั้งนั้น ก็ยังคงเก็บรักษาและวางแสดง อยู่บริเวณเชิงเขา ให้ประชาชนได้เข้าชมทุกวัน ปกติฤดูร้อนจึงจะมีนักท่องเที่ยวมากันเยอะ เพราะอากาศจะเย็นสบาย